ศาล เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองปัตตานีมานานหลายร้อยปีแล้ว ใครเจ็บไข้ได้ป่วยก็ไปขอให้เจ้าแม่ช่วย ก็จะหายป่วยหายไข้ ใครทำมาค้าขายไม่ขึ้นไม่ร่ำรวย ก็ไปขอให้เจ้าแม่ ช่วย แม้กระทั่งอยากได้เงินทุนมาค้าขาย ก็ขอได้จาก เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ด้วยเช่นกัน
ตำนานเรื่องเล่า เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว
ตำนาน เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เริ่มจากเรื่องราวของ ลิ้มโต๊ะเคี่ยม ผู้เป็นพี่ชาย ที่ว่ากันว่ามีความรู้ความสามารถ แม้กระทั่งเชิงรบเชิงดาบ รับราชการอยู่เมืองจีน แต่ถูกใส่ความหาว่าไปเข้ากับโจรสลัดญี่ปุ่น จึงพาลูกน้องไพร่พลหนีไปอยู่ไต้หวัน แล้วเริ่มทำอาชีพล่องเรือสำเภาค้าขาย
ลมทะเลนำพา…
ลิ้มโต๊ะเคี่ยม ล่องเรือลงมาเรื่อยจนมาถึงเมืองกรือเซะ ก็จอดเรือนำสินค้าแพรพรรณไปกำนัลเจ้าเมืองกรือเซะ ขอทำการค้าขาย ประกอบกับ ลิ้มโต๊ะเคี่ยม เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถหลายอย่างก็ยิ่งถูกอกถูกใจเจ้าเมือง รวมถึงธิดาของเจ้าเมืองซึ่งเป็นผู้ที่มีสิริโฉมงดงาม สุดท้าย ลิ้มโต๊ะเคี่ยม ก็ได้แต่งงานกับธิดาเจ้าเมืองกรือเซะ และยอมเข้ารีตนับถือศาสนาอิสลาม
ลูกเรือของลิ้มโต๊ะเคี่ยม ก็พากันอยู่ที่เมืองกรือเซะ ไม่กลับเมืองจีน บ้างก็แต่งงานกับหญิงสาวชาวมุสลิม นับถือศาสนาอิสลาม นายท้ายเรือของลิ้มโต๊ะเคี่ยมนั้น มีความสามารถในการหล่อปืนใหญ่ ซึ่งยุคนั้น ถือว่า ปืนใหญ่คืออาวุธชี้ขาดในการรบ เจ้าเมืองกรือเซะจึงให้หล่อปืนใหญ่
โดยใช้ทองแดงมาหล่อ แต่พอหล่อปืนเสร็จ ทดลองยิงครั้งแรก ปืนก็แตก จึงสั่งให้หล่อใหม่ คราวนี้หล่อ 3 กระบอกเลย หล่อปืนใหญ่ครั้งที่สองนี้ปรากฏว่าสำเร็จทั้ง 3 กระบอก เจ้าเมืองกรือเซะตั้งชื่อให้ปืนใหญ่ว่า “ศรีนครี” “มหาเหล่าหลอ” และ “นางปัตตานี”หรือ “นางพญาตานี”
ปัจจุบัน ปืนใหญ่นางพญาตานีถูกนำขึ้นมาที่กรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ที่หน้ากระทรวงกลาโหม ต่อมามารดาของลิ้มโต๊ะเคี่ยมเกิดล้มป่วยเพราะคิดถึงลูกชาย จน ลิ้มกอเหนี่ยว ผู้เป็นลูกสาวสงสาร จึงได้ร่วมกับน้องสาวอาสาไปตามหาพี่ชายให้กลับบ้านมาเยี่ยมแม่ โดยลั่นวาจาเอาไว้ว่า
หากไม่สามารถพาพี่ชายกลับบ้านได้ ก็จะไม่ขอมีชีวิตอยู่ต่อไป
สัญญาเป็นแรงผลักดัน
ลิ้มกอเหนี่ยวกับน้องสาวรวบรวมชายฉกรรจ์ที่มีความสามารถในเชิงรบเชิงดาบได้ราว 70 คน ล่องเรือจากเมืองจีน จนมาแวะขึ้นฝั่งที่เมืองนครศรีธรรมราช จึงล่องเรือมาจนถึงอ่าวหน้าเมืองกรือเซะ จึงได้ทอดสมอ ทางด้านเมืองกรือเซะ เห็นกองเรือสำเภามาจอดทอดสมออยู่หน้าอ่าว ก็คิดว่าเป็นศัตรูจะมาทำลายเมือง จึงส่งทหารไปขับไล่ แต่ส่งทหารไปรบ ไล่ กี่ครั้งก็พ่ายแพ้ ถูกฆ่าตายหมด จนไม่มีทหารคนใดขันอาสาไปปราบศัตรู
เจ้าเมืองกรือเซะ เลยไปขอร้องบุตรเขย ให้พาลูกน้องไปขับไล่ศัตรู ลิ้มโต๊ะเคี่ยม ก็พาลูกน้องที่มาจากจีนด้วยกัน ออกไปสู้รบ แต่พอสู้กันแล้วกลับไม่รู้ผลแพ้ชนะ เพราะเพลงดาบเป็นแนวเดียวกัน เพราะร่ำเรียนมาจากสำนักเดียวกัน แต่ไม่รู้จักกัน เพราะไปรบยามกลางคืน
อีกทั้งฝั่งลิ้มโต๊ะเคี่ยม ก็สวมชุดเป็นชาวมุสลิมแล้ว พี่-น้องมาจำกันได้หลังจากที่เอ่ยปากถามไถ่ถึงที่มาที่ไปกัน พอรู้ว่าเป็นพี่น้องกันก็ดีใจ พากันกลับเข้าเมืองกรือเซะ ฝ่ายเจ้าเมืองก็ดีใจ จัดงานเลี้ยงใหญ่โต พร้อมให้พำนักที่ในเมือง แต่ทางลิ้มกอเหนี่ยว พอพำนักได้ระยะหนึ่ง ก็เอ่ยปากบอกกับพี่ชายว่า มารดาล้มป่วยเพราะคิดถึง ลิ้มโต๊ะเคี่ยม อยากให้กลับบ้าน แต่ลิ้มโต๊ะเคี่ยม ได้ปฏิเสธที่จะกลับ พร้อมกับอ้างว่า กำลังทำการก่อสร้างมัสยิดอยู่
ตามสัญญา…
ลิ้มกอเหนี่ยว อ้อนวอนอยู่หลายครั้ง ก็ไม่อาจเปลี่ยนใจพี่ชายได้ จึงตัดสินใจผูกคอตาย ตามคำมั่นที่ได้ให้ไว้กับมารดาว่า หากพาพี่ชายกลับไปหาไม่ได้ ก็ไม่ขอมีชีวิตอยู่ ก่อนตาย ลิ้มกอเหนี่ยว ได้สาปแช่งเอาไว้ว่า
ขอให้มัสยิดที่ลิ้มโต๊ะเคี่ยมใช้เป็นข้ออ้างไม่กลับไปเยี่ยมแม่นั้น ไม่มีวันสร้างเสร็จ
หลังจากลิ้มกอเหนี่ยว ผูกคอตายใต้ต้นมะม่วงหิมพานต์แล้ว น้องสาวที่เดินทางมาด้วยก็ฆ่าตัวตาย ไพร่พลที่มาด้วยกัน ก็เอาเรือออกทะเลแล้วพากันกระโดดลงน้ำฆ่าตัวตายตามกันทั้งหมด เรือสำเภาทั้ง 9 ลำ ก็ค่อยๆ ผุพังจนจมลงในทะเล
เหลือเพียงเสากระโดงเรือที่ทำจากไม้สนโผล่พ้นน้ำมาทั้ง 9 ต้น บริเวณนั้นจึงถูกเรียกว่า “รูสะมิแล” รู ที่แปลว่า สน แบะ สะมิแล ที่แปลว่า 9 ปัจจุบัน เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
หลังงานศพน้องสาว โดยจัดสร้างฮวงซุ้ยไว้ที่บ้านกรือเซะ ลิ้มโต๊ะเคี่ยม ก็เดินหน้าสร้างมัสยิดต่อ แต่ทว่า เมื่อสร้างจวนจะเสร็จ เหลือเพียงยอดโดม ก็ถูกฟ้าผ่าลงมาจนพังเสียหาย ลิ่มโต๊ะเคี่ยม เพียรสร้างใหม่ ถึง 3 ครั้ง ก็ถูกฟ้าผ่าพังลงทุกครั้ง จนต้องเลิกสร้าง
เจ้าเมืองกรือเซะเองก็กลัวเกรงในอิทธิฤทธิ์ของคำสาป มัสยิดกรือเซะก็เลยสร้างไม่เสร็จจนถึงทุกวันนี้ แต่ปาฏิหาริย์กลับไปอยู่ที่ต้นมะม่วงหิมพานต์ ที่ลิ้มกอเหนี่ยวผูกคอตาย
ด้วยแรงศรัทธา
ผู้คนที่เกรงกลัวคำสาป แต่กลับไปกราบไหว้ขอความช่วยเหลือให้ช่วยรักษาอาการเจ็บป่วย แล้วเกิดหายจากโรคภัยนั่นได้จริง ยิ่งนานวันยิ่งมีคนไปขอมากขึ้น แล้วก็หายจากโรคภัยจริงๆ กระทั่ง คุณพระจีนคุณานุรักษ์ หัวหน้าคนจีนในเมืองปัตตานี เกิดป่วยเป็นโรค ที่ไม่รู้อย่างไรก็รักษาไม่หาย จึงทำการทรงเจ้า ถามพระหมอ พระเซ๋าซูกง
ก็ได้รับคำตอบว่า ให้ไปขอให้ เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ช่วยรักษา คุณพระจีนคุณานุรักษ์ จึงได้ทรงเจ้าเชิญวิญญาณเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ให้มาช่วยรักษา เจ้าแม่รับปากว่าจะช่วยรักษา แต่ต้องสร้างศาลเจ้าให้ใหม่ ให้ไปเอาไม้จากต้นมะม่วงหิมพานต์ ต้นนั้น มาแกะสลักเป็นรูป เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว กับน้องสาว นำไปไว้ที่ศาลเจ้าหลังใหม่
พร้อมทั้งอัญเชิญ พระเซ๋าซูกง ไปไว้ที่ศาลด้วย คุณพระจีนคุณานุรักษ์ รับปาก และเมื่อหายจากอาการป่วยแล้วก็สร้างศาลเจ้าและทำทุกอย่างตามที่รับปากเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวไว้ทั้งหมด งานสมโภชศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวมีขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี
คนในตระกูล คุณานุรักษ์ จะเป็นผู้ดูแลศาลเจ้าแม่ มาจนถึงปัจจุบัน ศาลเจ้าแม่ลิ่มกอเหนี่ยว กลายเป็นที่สำหรับขอพร ทั้งในเรื่องการเจ็บไข้ได้ป่วย ขอโชคลาภ การค้าขาย ด้วยการเสี่ยงเซียมซี บางคนที่มายืมเงินจากเจ้าแม่ไปเป็นขวัญถุง
เมื่อค้าขายร่ำรวยแล้วก็จะนำมาคืน เช่น ยืมไป 50 บาท ก็จะนำกลับมาคืน 100 บาท
: ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์ตระกูล คุณานุรักษ์