ศาลจระเข้ ตำนานจระเข้แห่งเมือง พระประแดง นอกจากศาลหลักเมืองพระประแดงแล้ว ศาลพระประแดง ที่เดิมตั้งอยู่ใกล้วัดหน้าพระธาตุ ก็ได้รับการเคารพสักการะจากชาวพระประแดงมาอย่างยาวนาน นั่นก็เพราะที่ศาลพระประแดงนั้น มีเทวรูปอยู่ 2 องค์ ที่ขุดพบจากคลองสำโรง
เล่ากันมาว่า ชื่อเมืองพระประแดง ก็มาจากชื่อของเทวรูปทั้งสององค์นี้ เทวรูปที่ว่านี้สร้างจากทองสัมฤทธิ์ ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีจารึกนามว่า พระยาแสนตาอีกองค์หนึ่งชื่อ บาทสังขกร ขุดพบในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ราว 500 ปี มาแล้ว พระประแดงนั้นเพี้ยนมาจาก กมรเตง เป็นภาษาขอม แปลว่า เจ้า หรือผู้เป็นเจ้า ซึ่งหมายถึงเทวรูป 2 องค์
แต่เทวรูปทั้งสององค์ไม่ได้อยู่ที่ศาลแล้ว หลังพระยาระแวก ยกพลมาตีกรุงศรีอยุธยา แต่ตีไม่แตก จึงเดินทางกลับผ่านมาทางเมืองพระประแดง ก็ขนเอาเทวรูปทั้ง 2 องค์กลับไป คนในยุครัตนโกสินทร์ก็เลยไม่มีใครได้เห็นเทวรูปทั้งสององค์
เชื่อกันว่า แม่น้ำเจ้าพระยา ก็น่าจะมาจากชื่อของเทวรูปสององค์นี้ เพราะคำว่า “เจ้า” นั้นเป็นภาษาเขมร ส่วนกมรเตง นั้นหมายถึงเทวรูป 2 องค์ ที่ชื่อ พระยาแสนตา กับ พระยาบาทสังขกร แต่แรกก็เรียกตำบลปากน้ำพระประแดงว่า บางเจ้าพระยา
อย่างไรก็ตาม มีเรื่องเล่าของชาวพระประแดงว่า เทวรูปทั้งสององค์นั้นศักดิ์สิทธิ์มาก ช่วยเหลือชาวบ้านไม่ให้ถูกจระเข้ทำร้าย หรือจับชาวบ้านไปกิน
ตำนานเรื่องเล่า ศาลจระเข้ ตามสุนทรภู่
สุนทรภู่ ก็บรรยายไว้ในนิราศเมืองแกลงถึงความแรง ความศักดิ์สิทธิ์ของศาลพระประแดง ไว้เช่นกัน
อนาถนิ่งอิงเขนยคะนึงหวน จนจวบจวนแจ่มแจ้งปัจจุสมัย
ศศิธรอ่อนอับพยับไพร่ ถึงเชิงไทรศาลพระประแดงแรง
ขออารักษ์ศักดิ์สิทธิ์ที่สิงศาล ลือสะท้านอยู่ว่าเจ้าห้าวกำแหง
ข้าจะไปทางไกลถึงเมืองแกลง เจ้าจงแจ้งใจภัคนีที
อย่างที่บอกว่า คนในสมัยรัตนโกสินทร์ ไม่เคยเห็นเทวรูปทั้งสององค์ แต่ นิราศฉลาง หรือเมืองถลาง จังหวัดภูเก็ต ของเสมียนมี กวีสมัย รัชกาลที่ 3 ก็ยังบรรยายถึงศาลพระประแดงถึงอาถรรพ์ และความศักดิ์สิทธิ์ของศาลพระประแดงไว้เช่นกัน
ถึงศาลเจ้าพระประแดงแสยงเกล้า นึกกลัวเจ้าพระประแดงแรงหนักหนา
บนศาลศรีมีเศียรของกุมภา แต่พันตาพันวังหัวฝังดิน
พระประแดงแข็งกล้าเจ้าข้าเอ๋ย ขอลาเลยลับไปดั่งใจถวิล
ช่วยป้องกันกุมภาในวาริน อย่าให้กินชาวบ้านชาวบูรี
ศาลเจ้าพ่อพระประแดง ฝั่งท่าเรือคลองเตยแห่งนี้ เป็นศาลที่สร้างขึ้นใหม่ แต่ความเชื่อเรื่องการถวายหัวจระเข้ต่อเทพยดายังคงมีอยู่ แต่ก็เป็นจระเข้ปลอม
บทความที่เกี่ยวข้อง ขอพร ศาลหลักเมืองพระประแดง
นิทานเรื่อง ไกลทอง
สำหรับจระเข้พันตา กับจระเข้พันวังตามนิราศเมืองฉวาง ของเสมียนหมี กวีสมัยรัชกาลที่ 3 นั้น น่าจะมาจากเรื่องเล่าเกี่ยวกับจระเข้ ที่เล่าสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน จนเป็นตำนานของศาลเจ้าพ่อพระประแดง หรือศาลจระเข้พระประแดงแห่งนี้
นิทานกลอน เรื่องไกรทอง เขียนโดย บุศย์ รจนา เล่าว่า เมื่อสมัยก่อนนั้น ที่แม่น้ำเจ้าพระยา มีเขตแดนของจระเข้เป็นสองเขต คือเขตเหนือกับเขตใต้ แบ่งพื้นที่การหากินกันชัดเจน
ทางตอนเหนือของแม่น้ำเจ้าพระยานั้นปกครองโดยท้าวโคจร เป็นจระเข้น้ำจืดขนาดใหญ่ ว่ากันว่า ยาวถึง 40 เส้น เลยทีเดียว แต่ว่า ท้าวโคจร นั้นเป็นจระเข้ฝ่ายธรรมะ ไม่เคยทำร้ายผู้คน แต่บำเพ็ญศีลภาวนา อยู่แม่น้ำน่าน เมืองพิจิตร
นับเป็นปู่ของชาละวัน อันโด่งดัง เพราะเจ้าชู้ไปคาบเอาตะเภาแก้ ตะเภาทองกลับไปที่ถ้ำใต้น้ำ จนถูกฆ่าตายนั่นแหละ
ส่วนจระเข้ฝ่ายใต้นั้น ปกครองโดยจระเข้สองพี่น้องชื่อ ท้าวพันตา กับพระยาพันวัง แต่จระเข้สองพี่น้อง เป็นจระเข้ ที่เกเร ทำร้ายผู้คน มีโอกาสก็จับกินอยู่บ่อยครั้ง
ที่เป็นเรื่องเป็นราวก็คือ จระเข้ฝ่ายใต้ไปทำร้าย และฆ่าจระเข้ฝ่ายเหนือ ที่เป็นบริวารของท้าวโคจร เมื่อท้าวโคจร รู้เข้าก็ถึงกับเต้นเป็นเจ้าเข้า เพราะลำพังไปทำร้ายผู้คนก็มากพอแล้ว ที่ถึงกับทำร้ายเข่นฆ่าจระเข้ซึ่งเป็นเผ่าพันธุ์เดียวกันอีก หากไม่ไปสยบจระเข้สองพี่น้องนี้ ก็จะกำเริบเสิบสานอาละวาดไปทั่วแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแน่
เมื่อคิดได้ดังนั้นก็ล่องลงไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อไปถึงจุดที่ใกล้กับถิ่นอาศัยของท้าพันตากับท้าวพันวัง จระเข้สองพี่น้องผู้กำลังฮึกเหิม ท้าวโคจร ก็เอาหางอันใหญ่โตฟาดลงน้ำจนแม่น้ำเจ้าพระยาปั่นป่วนไปหมด
เพราะขนาดของท้าวโคจร ที่ยาวกว่า 40 เส้น แรงฟาดหางของท้าวโคจร กระเพื่อมไปถึงท้าวพันตา ผู้พี่ ก็ว่ายรี่ออกมาต่อกรกับท้าวโคจร แต่ด้วยเพราะขนาดและฤทธิ์เดชของท้าวโคจร ไม่นานนัก ท้าวพันตาก็พลาดท่าเสียทีให้แก่ท้าวโคจร จนเสียชีวิต
เมื่อเห็นท้าวพันตาตายต่อหน้า พระยาพันวัง ผู้น้องก็เข้ามาต่อสู้กับท้าวโคจร แต่พระยาพันวังนั้น เป็นจระเข้ที่มีพละกำลังมาก เพราะมีเทวดาคุ้มครองอยู่ ท้าวโคจร ก็ให้สงสัยว่า เหตุใด พระยาพันวังถึงได้มีฤทธิ์มาก จึงแกล้งถามไป ก็ได้รู้ว่าความมีเทวดาคุ้มครองพระยาพันวัง
ท้าวโคจร จึงได้ร้องบอกกับเทวดาที่คุ้มครองพระยาพันวังว่า เข้าข้างฝ่ายที่ผิดไปเสียแล้ว เพราะจระเข้สองพี่น้องนี้ ไม่เพียงแค่เข่นฆ่าผู้คน หากแต่จระเข้เผ่าพันธุ์เดียวกันก็ไม่ละเว้น
แต่พระยาพันวังนั้น กลับบอกว่า ไม่ใช่เพราะเทวดาคุ้มครอง หากแต่เป็นตนเองที่มีฤทธิ์เดชมากอยู่แล้ว พอพระยาพันวัง พูดออกมาแบบนี้ เทวดา ก็เลยถอนความช่วยเหลือ พระยาพันวัง ก็สิ้นฤทธิ์ถูกท้าวโคจร ฆ่าตาย และคาบเอาหัวพระยาพันวังไปสังเวยเทวดาที่ศาลริมแม่น้ำ
ไม่รู้ว่าเป็นเพราะนิทานเรื่องนี้หรือเปล่า เพราะการถวายหัวจระเข้เพื่อเซ่นสังเวยให้กับเทวดา ก็กลายเป็นประเพณีของคนย่านนี้ เพียงแต่ทุกวันนี้ไม่ได้ถวายเป็นหัวจระเข้สดๆ แต่เป็นปูนปั้น หรือไม่ก็จระเข้ ที่ทำจากยาง
สำหรับสายเสี่ยงโชคเสี่ยงดวง ที่ศาลเจ้าพ่อพระประแดง ก็น่าจะเป็นอีกเป้าหมายที่จะไปขอพร ขอโชคลาภ ซึ่งก็อาจจะได้เลขเด็ดไปเสี่ยงโชคเสี่ยงดวงให้ชีวิตดีขึ้นได้ เพราะศาลแห่งนี้เป็นที่พึ่งของชาวเมืองพระประแดงมาช้านาน