เมื่อพูดถึง พระเจ้าองค์ตื้อ นั้น ต่างก็มุ่งไปที่บารมีและปาฏิหาริย์ถึงความสำเร็จในการสร้างพระขนาดใหญ่ ที่จะต้องใช้ทั้งทรัพย์สิน คน เวลา ที่สำคัญคือแรงศรัทธาอย่างแรงกล้าที่มีต่อพระพุทธศาสนา
พระเจ้าองค์ตื้อ มีความหมายว่าอย่างไร
คำว่าตื้อนั้น เป็นมาตรวัดทองคำของคนโบราณ ในอาณาจักรล้านนาและล้านช้าง 100 ชั่งเป็นหมื่น 10 หมื่นเป็นแสน 10 แสนเป็นล้าน 10 ล้านเป็นโกฏิ 10 โกฏิเป็นกือ 10 กือ เป็นตื้อ มีคนประมาณเอาว่า ตื้อ น่าจะเท่ากับ 12000 กิโลกรัม
พระเจ้าองค์ตื้อเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ที่บอกเล่ากันมาว่าศักดิ์สิทธิ์ เจ็บไข้ได้ป่วย กินน้ำมนต์ก็หาย ขอลูกได้ลูก ที่สร้างโดยกษัตริย์ในดินแดนล้านช้างมีอยู่ 2 องค์ องค์หนึ่งอยู่ สปป.ลาว อีกองค์อยู่วัดศรีชมพูองค์ตื้อ อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย
สำหรับพระเจ้าองค์ตื้อที่อยู่เวียงจันทน์นั้น มีเรื่องราวให้ดูเหมือนมีปาฏิหาริย์ โดยตามตำนานบอกว่า สร้างจากโลหะ 3 อย่างคือ ทองคำ ทองแดงและเงิน คาดว่า สร้างในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ซึ่งเป็นกษัตริย์ ของอาณาจักรล้านช้างที่มุ่งมั่นสร้างบุญกุศล ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา
โดยมุ่งหวังว่า จะได้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ถัดไป ในยุสมัยของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช จึงน่าจะเรียกได้ว่า เป็นยุคทองของพระพุทธศาสนาในอาณาจักรล้านช้าง
ตำนานว่าไว้
พระเจ้าองค์ตื้อทั้งที่ลาวกับที่ หนองคาย น่าจะถูกสร้างขึ้นในปีพ.ศ. 2105 พระเจ้าไชยเชษฐา ครองนครเวียงจันทร์
แต่ที่ลาวนั้นมีตำนานเล่าถึงอภินิหารพระเจ้าองค์ตื้อ ว่ามีขึ้นตั้งแต่ยังไม่สร้างไม่เสร็จ
เพราะระหว่างที่เตรียมหลอมทองเพื่อทำพิธีเททองหล่อพระอยู่นั้น พระเจ้า บุ เร ง น อง กษัตริย์พม่าก็นำทัพบุกมาถึงประตูเมืองเวียงจันทน์แล้ว พระเจ้าบุเรงนอง ได้ให้แม่ทัพ 4 คน นำสาส์นไปให้พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช
เป็นคำขาดว่า ให้ยอมเป็นเมืองขึ้นแก่พม่า หาไม่ก็ต้องรบกัน จากนั้น แม่ทัพพม่าก็กลับ แต่ระหว่างนั้นก็เหลือบไปเห็นว่า มีพิธีเททองหล่อพระอยู่ แม่ทัพพม่าก็สำแดงฤทธิ์ยื่นมือล้วงเข้าไปที่เบ้าหลอมทองที่มีเนื้อทองกำลังเดือดอยู่ปุดๆ พอดีกับที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ออกมาเห็น ก็ตกใจ ขนาดแม่ทัพพม่า ยังเก่งกาจขนาดนี้ เห็นทีจะเสียเมืองเวียงจันทน์เป็นแน่แท้
จึงเดินกลับเข้าไปในพระราชวัง ด้วยสีหน้าที่บ่งบอกถึงความทุกข์ใจ บังเอิญพระมเหสี ได้เห็นเข้าจึงสอบถาม พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ก็เลยเล่าเรื่องแม่ทัพพม่า ล้วงมือเข้าไปในเบ้าหลอมทองให้ฟัง พระมเหสี ก็เตือนสติไปว่า จะไปกลัวอะไร ก็ในเมื่อมุ่งมั่นที่จะสร้างบุญสร้างกุศลเพื่อให้ได้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป ทำไมไม่อธิฐานขอ
ว่าหากสิ่งที่ปรารถนานั้นจะสำเร็จและจะชนะศึกกับพม่า ก็ขออย่าให้ทองนั้นร้อน ให้เย็นเหมือนกับน้ำ แต่หาไม่แล้วก็ให้มือนั้นขาดเสีย ณ ที่เบ้าหลอมทองนั้น
เมื่อได้ฟังพระมเหสีให้สติ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ก็เข้าไปกราบไหว้อธิฐานต่อหน้าพระพุทธรูป เสร็จแล้วก็กลับเข้าสู้พิธีหลอมทองสร้างพระเจ้าองค์ตื้อ และบอกกับแม่ทัพของพม่าว่า คำขาดที่ยื่นมานั้น ขอรับไว้ทั้งหมด
แต่ช่วงนี้กำลังทำพิธีหลอมพระใหญ่เพื่อทำบุญใหญ่เพราะต้องการเป็นพระพุทธเจ้าในภายภาคหน้า ขอเชิญแม่ทัพพม่าอยู่ร่วมทำบุญก่อน
อภินิหาร พระเจ้าองค์ตื้อ
เมื่อได้เวลามงคล พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ก็เอามือขวายื่นไปรับเบ้าเททองที่ร้อนๆ มีทอดเดือดอยู่ภายใน แล้วทำการเททองจนเสร็จพิธี โดยทั้งไฟ ทั้งความร้อนไม่อาจระคายเคืองพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช แม้แต่น้อย คราวนี้เป็นแม่ทัพพม่าทั้ง 4 ที่ตกใจเพราะเจอคนมีของเหมือนกัน ก็กลับไปเพื่อนำความไปกราบทูลพระเจ้าบุเรงนอง
ปาฏิหาริย์ไม่ได้หยุดเพียงเท่านั้น เพราะยังมีเรื่องเล่าต่ออีกว่า พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช อยากทำให้พม่าเห็นชัดๆ ก็เลยไปอธิษฐานต่อพระเจ้าองค์ตื้ออีกว่า หากมีปาฏิหาริย์จริง ก็ขอให้ทัพพม่าทั้งคนทั้งช้างม้าพากันหลับใหลกันทั้งกองทัพ และเมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชไปถึง กองทัพพม่าก็พากันหลับใหลทั้งกองทัพจริงๆ
ก็เลยคิดอยากแสดงให้ทัพพม่าได้รู้ว่า ได้มาเยือนแล้ว เพราะหากจะฆ่าเสียทั้งกองทัพ ก็จะเป็นบาปหนัก ความมุ่งมั่นที่จะเป็นพระพุทธเจ้าก็คงจะสิ้นไป จึงปรึกษากับนายทหารคนสนิทที่เดินทางไปด้วย บังเอิญนายทหารเหลือบไปเห็นกล่องปูนที่ทหารพม่าเอาไว้เคี้ยวกับหมาก ก็เลยเอาไปละลายน้ำ ก่อนที่จะไปปาดคอเป็นรูปกากบาท ทั้งพระเจ้าบุเรงนอง และแม่ทัพทั้ง 4 ที่เพิ่งไปหาเมื่อเช้า
พอรุ่งเช้า พระเจ้าบุเรงนอง ตื่นขึ้นมาเห็นคอแม่ทัพทั้ง 4 ก็ถามว่า ไปทำอะไรมา แม่ทัพก็บอกว่า ของท่านก็มี คิดไปคิดมา ก็เชื่อว่า น่าจะเป็นฝีมือ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช เป็นแน่ เพราะเมื่อกลางวันยังเอามือไปจับเบ้าทองร้อนๆ ได้เลย แล้วที่เอาปูนมาป้ายนี้ก็ไม่รู้อย่างไร
เมื่อคิดได้ดังนั้น พระเจ้าบุเรงนอง ก็เลยเชื่อว่า ถ้าฤทธิ์เดชล้านช้างมากขนาดนี้ รบไปก็น่าจะพ่ายแก่ล้านช้าง สมควรที่จะผูกเอาเป็นมิตรกันจะดีกว่า
พอดีทหารเข้ามารายงานว่า ทหารล้านช้างมาแจ้งว่า เมื่อคืน พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช มาเยี่ยมกองทัพ แต่เห็นหลับกันหมด เลยไม่ได้เข้ามาปลุก ที่มานี้ก็อยากเชิญไปเยือนพระราชวังของเวียงจันทน์ เพื่อหารือเรื่องงานบ้านเมือง
พระเจ้าบุเรงนอง ก็ดีใจ พา 4 แม่ทัพเข้าวังเวียงจันทน์ เสนอให้หงสาวดีกับเวียงจันทน์ล้านช้างเป็นไมตรีต่อกัน ดื่มน้ำสาบานว่าจะซื่อสัตย์ต่อกัน แต่พระเจ้าบุเรงนองก็ยังคาใจเรื่องปูนที่ป้ายคอ
พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ก็บอกว่า ไม่ได้มีเวทย์มนอะไร เป็นเพียงสัญลักษณ์ที่พระมเหสี ได้เตือนสติเอาไว้เท่านั้น
เมื่อได้ฟังดังนั้น พระเจ้าบุเรงนอง ก็เสนอว่าจะให้ช่างแกะสลักหินขนาดเท่ากับองค์จริงของพระมเหสี ของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชไว้เป็นที่ระลึก พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช จึงได้ให้ช่างแกะสลักเป็นองค์พระมเหสีของพระเจ้าบุเรงนองไว้คู่กัน ปัจจุบัน องค์มเหสี ของกษัตริย์ทั้งสองยังอยู่ที่วัดอินแปง นคร เวียงจันทน์
บทความที่เกี่ยวข้อง หลวงพ่อพระใส พระคู่บ้านคู่เมืองหนองคาย
ปราบกบฎ เจ้าอนุวงศ์
ส่วนพระเจ้าองค์ตื้อนั้น ตำนานของลาวระบุว่า เมื่อครั้งแม่ทัพจากกรุงเทพฯ มาปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ เมื่อได้ชัยชนะแล้วก็เผาเมืองเวียงจันทน์เสียราบคาบ
พระเจ้าองค์ตื้อ ก็ไม่พ้น ทัพจากสยามได้รื้อบ้านเรือนชาวบ้านถึง 3 หลังมาเผาพระเจ้าองค์ตื้อ ก็ไม่สามารถหลอมองค์พระให้ละลายได้
อันเป็นการบ่งบอกถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าองค์ตื้อ และทุกวันนี้ พระเจ้าองค์ตื้อก็เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของ สปป.ลาว ชาวลาวเคารพศรัทธามากพอๆ กับพระบางที่เมืองหลวงพระบาง