ชาวบ้านลุ่มน้ำหมัน โดยเฉพาะชาวด่านซ้าย จังหวัดเลย มีประวัติความเป็นมายาวนาน นอกจากจะศรัทธาในพระพุทธศาสนาแล้ว ยังมีความเชื่อในเรื่อง ผี ตา โขน อำนาจลึกลับเหนือธรรมชาติ ซึ่งก็น่าจะมาจากรากเง้าวัฒนธรรม ล้านนา และล้านช้าง ซึ่งเป็นดินแดนที่ติดต่อกัน
ที่มาและวิธีทำหน้ากากของ ผี ตา โขน
ด่านซ้ายตั้งอยู่ทางด้านซ้ายของเมืองบางยาง ที่น่าจะเป็นอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก พ่อขุนบางกลางท้าว เป็นเจ้าเมืองบางยาง ได้ตั้งเมืองด่านซ้ายเป็นหน้าด่าน ว่ากันว่า ด่านซ้าย น่าจะมาจาก ด่านซ้าง (ซ้าง ภาษาถิ่น ก็คือ ช้าง) ผู้คนที่นี่เชื่อว่าอพยพมาจากดินแดนล้านช้าง ปัจจุบันคือ สปป.ลาว
“ผี ตา โขนเป็นการละเล่นที่ประกอบไปกับงานพิธีกรรมที่คนด่านซ้ายเรียกกันว่า งานบุญหลวง ซึ่งเป็นงานบุญ 3 งาน ตามขนบฮีตสิบสอง ของเมืองด่านซ้าย รวมกัน คือ บุญผะเหวด ซึ่งเป็นงานเดือนสี่กับ บุญบั้งไฟ เป็นงานบุญเดือนหก และยังมีบุญซำฮะ เพื่อสะเดาะเคราะห์ให้ทั้งคนทั้งบ้านเมือง
แม้จะได้ชื่อว่าผี แต่ผี ตา โขนกลับเป็นการแสดงออกถึงความสนุกสนานรื่นเริงเสียมากกว่า เพราะนอกจากจะเป็นผีที่แต่งกายด้วยผ้าขาด ผ้าเก่า แล้วยังเอาหวดนึ่งข้าวเหนียวเก่า ใช้สีที่หาได้ตามท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นปูนแดง ปูนขาว รัก แต่งแต้มลวดลายแล้วเอามาสวมหัว เดินเต้นตามจังหวะเพลง
พร้อมทั้งหยอกล้อผู้คนสร้างความครื้นเครงสนุกสนาน ถึงแม้ในปัจจุบัน เครื่องแต่งกายของผีตาโขนจะเปลี่ยนไป ใช้ของใหม่แต่ความสนุกสนานกลับมีทีท่าว่าจะมากขึ้นกว่าเดิมตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
ความเป็นมาของ ผีตาโขน
ความเป็นมาของผี ตา โขนนั้นเชื่อมโยงกับตำนานพระพุทธศาสนา ก็คือ เวสสันดรชาดก
เล่ากันว่า เมื่อพระเวสสันดร กับนางมัทรี ตัดสินใจจะออกจากป่า ระหว่างเดินทางออกมานั้น สรรพสัตว์น้อยใหญ่ก็พากันมาส่ง ซึ่งก็รวมทั้งผีป่าสารพัดชนิดก็แห่แหนกันมาส่งด้วย ครั้นพอเข้าเขตเมือง ผู้คนที่พบเห็นผีต่างพากันหวาดกลัว เมื่อ พระเวสสันดร รู้ ก็เลยขออำนาจบารมีบันดาลให้เห็นเป็นผู้คนปกติ
ก็เลยมีความเชื่อกันว่า ผี ตา โขนน่าจะมาจาก “ผีตามคน” ก็คือตามพระเวสสันดร ออกจากป่า
งานบุญหลวงของเมืองด่านซ้ายจะมีขึ้นราวเดือน 6-7 ของทุกปี เป็นช่วงที่การเพาะปลูกทำนากำลังจะเริ่มขึ้น
สถานที่สำคัญของอำเภอด่านซ้าย นอกจากจะเป็นพระธาตุศรีสองรักแล้วก็มีวัดโพนชัย ที่ตั้งอยู่ริมลำน้ำหมัน ไม่ไกลจากองค์พระธาตุเท่าใดนัก
เชื่อกันว่างัดโพนชัย สร้างขึ้นพร้อมๆ กับการสร้างพระธาตุศรีสองรัก งานบุญสำคัญ หรือบุญหลวง จะจัดขึ้นที่วัดโพนชัย แต่ก็จะมีพิธีย่อยขึ้นที่วัดในจังหวัดเลยอีกหลายแห่ง ได้แก่ วัดศรีสะอาด วัดโพธิ์ศรีนาเวียงใหญ่ และวัดศรีภูมิ
งานบุญพระเวสสันดร
งานบุญผะเหวด หรือ พระเวสสันดร เป็นการฟังพระเทศน์เรื่องมาลัยหมื่นมาลัยแสน เทศน์สังกาส และเทศน์เรื่องพระเวสสันดร เชื่อกันว่า ใครฟังเทศน์จบในวันเดียวจะได้กุศลแรง ไปเกิดในยุคพระศรีอาริยเมตไตรย์ ก็คือยุคที่มีแต่สุข
ส่วนงานบุญบั้งไฟเป็นงานจัดขึ้นเพื่อขอฝนจากพญาแถน ก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูทำนา และการบูชาผีเจ้านายที่ปกปักคุ้มครองผู้คนในเมืองด่านซ้าย
งานบุญหลวงที่ว่านี้จะจัดขึ้น 3 วัน วันแรกเรียกว่าวันโฮม วันเบิก พระ อุป คุต โดยเริ่มตั้งแต่ราว 3.00 น. มีพิธีบวชพราหมณ์รับศีล 8 ให้กับพ่อแสน (วัดโพนชัย วัดศรีสะอาด และวัดศรีภูมิ) และพราหมณ์พื้นบ้าน (วัดโพธิ์ศรี) เพื่อเป็นตัวแทนไปทำพิธีเบิกพระอุปคุต ณ ลำน้ำหมัน และมีการไปบอกกล่าวกับพระเจ้าใหญ่ พระประธานในโบสถ์วัดโพนชัย
สาเหตุที่ไปอันเชิญพระ อุป คุต จากลำน้ำหมันนั้น เพราะความเชื่อว่า พระ อุป คุต นั้นมีอิทธิฤทธิ์สามารถปราบพญามารที่มีใจริษยาผู้คน ชอบมาทำลายงานพิธีกรรมต่างๆ ตามตำนาน พระ อุป คุต จะบำเพ็ญเพียรอยู่ที่สะดือทะเล ลำน้ำหมันนั้นถูกสมมติให้เป็นทะเล และพระอุปคุต นั้นก็เป็นก้อนหินสีขาวก้อนหนึ่ง ที่มีคนเอาไปหย่อนตรงจุดที่ลำน้ำหมันบรรจบกับลำน้ำศอก ก่อนวันงาน 1 วัน
บทความที่เกี่ยวข้อง พระบาง เมืองหลวงพระบาง ปฐมพุทธศาสนาในดินแดนล้านช้าง
เมื่อไปถึงลำน้ำหมันก็จะทำพิธีอัญเชิญพระอุปคุต ขึ้นจากน้ำ ก็จะมี แสน ที่เป็นบริวารของเจ้าพ่อกวน ลงไปงม เมื่อได้ก้อนหินแล้วก็จะตะโกนถามคนบนฝั่งว่า ใช่พะอุปคุตหรือเปล่า คนบนฝั่งก็จะตอบว่าไม่ใช่ ก็ต้องไปงมมาใหม่
จนกระทั่งครั้งที่ 3 จึงจะตอบว่า ใช่ “แสน” ก็จะนำพระ อุป คุต ใส่พาน แล้วแห่ไปยังวัดโพนชัย วนรอบโบสถ์ 3 รอบ ยิงปืนจุดประทัด ระบำรำฟ้อน ก่อนที่จะนำพระอุปคุต ไปประดิษฐานไว้ที่หอพระอุปคุต
ขณะเดียวกัน ก็จะทำพิธีบายศรีสู่ขวัญให้แก่เจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียม ที่บ้านเจ้าพ่อกวน เพื่อขอขมาและเบิกงานเล่นบุญ เสร็จแล้วก็จะแห่กันมาเป็นขบวนรวมทั้งผีตาโขนน้อยใหญ่ แห่กันมาที่วัดโพนชัย
วันถัดมา เป็นการจัดพิธีแห่พระเวสสันดรเข้าเมืองที่วัดโพนชัย เจ้าพ่อกวนนำบริวาร (พ่อแสน) พร้อมชาวบ้าน และขบวนผีตาโขนน้อยใหญ่แห่กัณฑ์เทศน์ออกจากบ้านเจ้าพ่อกวนไปยังวัดโพนชัย วนรอบโบสถ์ 3 รอบ นำถวายพระและพาชาวบ้านเล่นบุญ
ช่วงบ่ายเจ้าพ่อกวน เจ้าแม่นางเทียม พ่อแสน นางแต่ง และชาวบ้าน พระสงฆ์ 4 รูปทำพิธีสู่ขวัญพระเวสสันดร ที่หน้าบ้าน แล้วแห่พระพุทธรูปซึ่งถือเป็นองค์แทนพระเวสสันดรเข้าเมือง
พ่อแสนพร้อมชาวบ้านจะเชิญเจ้าพ่อกวนขึ้นนั่งตรงหัวบั้งไฟ แห่รอบโบสถ์วัดโพนชัย 3 รอบ จากนั้นมีพิธีจุดบั้งไฟบูชาพญาแถน
เมื่อเสร็จพิธีตรงนี้แล้ว ชาวบ้านจะเอาชุดผีตาโขน และอุปกรณ์ที่ใช้เล่น ไปทิ้งที่ลำน้ำหมัน ที่ท่าวังเวิน ห้ามเอากลับบ้าน นั่นก็เพื่อให้เคราะห์ โศก ได้ลอยน้ำไปพร้อมกับผีตาโขน
เมื่องานมาถึงวันที่ 3 ก็จะมีการเทศน์ มหาชาติ 13 กัณฑ์ และยังมีพิธีสวดซำฮะ สูตรกระทง จ้ำข้าวจ้ำคิง เอาข้าวเหนียวมาปั้นแล้วจ้ำ (จิ้ม) ลงบนตัวแล้วเอาไปทิ้งลงในกระทง โดยพ่อแสน จะเป็นคนทำพิธี เพื่อขอขมาลาโทษ และสะเดาะเคราะห์